จะมีสัญญาณอะไรบ้างที่จะบอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้อง Move on จากงานที่เราทำอยู่นะ

Sutham
January 24, 2024

Share :

จากบทความว่าไว้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการบันทึกว่ามีคนลาออกโดยสมัครใจเป็นจำนวนมาก นิยามเหตุการณ์นี้ว่า The Great Resignation หรือ Big Quit

Original from HBR

เน้นคำจากหัวข้อถึงบทความ

จากหัวข้อแล้ว ในบทความใช้คำว่า “career change” คือมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนงานนะ แต่เป็นการเปลี่ยนอาชีพเลย และยังลงท้ายด้วยว่า “fresh path” คือชัดมากว่า นี่คือเรื่องใหม่ที่ต้องรับมือ รวมถึงในเนื้อหาระบุถึงการ “เปลี่ยนสายงาน” โดยระบุคำว่า “career transition” จากส่วนตัวที่อ่านแล้ว คิดว่าสามารถปรับใช้กับมุมมองได้ทั้งการ “เปลี่ยนงาน” หรือ “เปลี่ยนสายงาน” ก็ได้เช่นกันนะ แต่การเปลี่ยนสายงานนี่ ต้องคิดให้เข้มข้นมากๆ

เนื้อหาต่อไปนี้จะเป็นการเล่าบทความ และบวกกับมุมมองและประสบการณ์ตัวเองประกบไปด้วยกันนะครับ ลองอ่านไปด้วยกัน คิดตามไปด้วยกันได้ครับ 🙂

จากบทความว่าไว้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการบันทึกว่ามีคนลาออก(โดยสมัครใจด้วยนะ)เป็นจำนวนมาก โดยเค้านิยามเหตุการณ์นี้เลยนะว่า The Great Resignation หรือ Big Quit ก็คือการลาออกครั้งยิ่งใหญ่ บางคนที่ออกไป ก็คือหางานที่มีความยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตไปเลย ซึ่งเหตุการณ์ COVID-19 ก็มีผลต่อชีวิตและเป้าหมายมากขึ้นด้วย

โดยบทความนี้ก็บอกว่า จริงแล้วมันก็เป็นวิถีธรรมชาติ เป้าหมายเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ค้นหาวิธีต่างๆ เพื่อปรับตัว ซึ่งมันก็อาจจะยากหรือ challenge มากสำหรับบางคน (หรือหลายคนเลย) และมันก็นำมาซึ่งการตัดสินใจครั้งใหญ่เสมอเมื่อมันกำลังเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่เราเคยตั้งใจมาตลอด อย่างการเปลี่ยนอาชีพก็เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบมากๆ (ในบทความใช้คำว่า “career change” คือมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนงานนะ แต่เป็นการเปลี่ยนอาชีพเลย และยังลงท้ายด้วยว่า “fresh path” คือชัดมากว่า นี่คือเรื่องใหม่ที่ต้องรับมือ)

ทีนี้เค้าก็สรุปมาได้ว่าสัญญาณที่จะบอกว่า ถึงเวลาแล้วละที่คุณจะมีแนวโน้มว่าต้องเปลี่ยนสายงานแล้ว เพื่อเป็นการตั้งคำถามและให้เราแน่ใจว่า “ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่ต้องย้ายจากงานที่เคยมีความหมาย หรือมีเป้าหมายมีมาก่อนหน้ามาโดยตลอดนะ”

It’s no longer encouraging your growth.

มันไม่ได้ทำให้เราเติบโตขึ้นเลย

ในบทความเค้าเปรียบเปรยบกับนักกีฬาที่ฝึกฝนเป็นประจำ แต่พอมันเป็นอะไรที่ทำเป็นประจำ หรือ สม่ำเสมอ “จนเกินไป” จะเป็นเหตุที่ทำให้หยุดการเติบโต ตรงนี้น่าจะพอเข้าใจได้ว่า การทำไรบางอย่างซ้ำๆ เรื่อยๆ น่าจะทำให้ไม่ได้เก่งขึ้น หรือมีความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ บางคนอาจจะเบื่อได้ อันนี้ผมเสริมเองนะถ้าวเคราะห์จากบทความส่วนนี้

บทความนี้ก็เล่าต่อว่า ใช่แหละ พอเห็นว่าไม่น่ามีทางโตไปได้แล้วก็คงต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างหรือเปลี่ยนงานไปเลย แต่ก่อนจะเปลี่ยนไปที่อื่น ลองมองหาวิธีที่เปลี่ยนแปลงในงานปัจจุบันในเรื่องของงานหรือสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่นว่า ให้ลองเปลี่ยนแปลงงานปัจจุบันที่คุณทำอยู่ให้แตกต่างไปจากเดิม หรือ “job crafting” (มีบทความที่ HBR เขียนเรื่องนี้ไว้ด้วย อ่านต่อได้ที่นี่ https://hbr.org/2020/03/what-job-crafting-looks-like )

จากมุมมองส่วนตัว

ถ้านึกถึงแค่ข้อนี้ข้อเดียว คิดว่าบางคนอาจจะมีความสุขกับการทำงานโดยไม่เติบโตก็น่าจะมีนะ น่าจะต้องคิดประกอบไปด้วยว่าเรามีเป้าหมายการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างไร มันยังตรงอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่ได้เติบโต แต่ชีวิตด้านอื่นยังมีความสุขดี ก็อาจจะต้องดูตอบโจทย์และเป้าหมายของบริษัทยังไงไหม ความคาดหวังต่อตัวเรา หรือเราจะสร้างคุณค่าให้กับงาน(และคนที่เราทำงานด้วย)ได้อย่างไร

You’ve achieved what you set out to achieve.

อะไรที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ มันได้สำเร็จไปแล้ว

หัวข้อนี้บอกไว้ว่า เราอาจจะไม่ได้เติบโตกับงานปัจจุบันแล้ว เพราะไม่มีอะไรเป็นแรงจูงใจแรงกระตุ้นแล้ว ซึ่งบางคนก็พอใจกับผลงานที่เราได้สร้างไว้ ณ ตอนนี้แล้ว และพร้อมที่จะปล่อยมือแล้ว มันก็เลยอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ก็ได้

จากมุมมองส่วนตัว

จากที่ได้คุยกับคนรอบตัว และเห็นการพูดคุยหรือตั้งประเด็นเรื่องการย้ายสายงาน คิดว่าอาจจะไม่ได้มีกลุ่มที่มองมุมนี้มากนักว่า ผลงานตอนนี้ดีแล้วพอแล้ว แต่จะมีแบบ อยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ กับอีกแบบคือยังไม่มั่นใจกับที่ตัวเองทำ หรือเพราะคนรอบตัวผมอาจจะไม่มีคนกลุ่มนี้ก็ได้นะครับ ลองสังเกตคนรอบตัวผู้อ่านดูนะๆ

You actively look for ways to avoid your job.

มีความตั้งใจที่จะเลี่ยงงานของตัวเองที่เข้ามา

ตัวอย่างที่ชัดก็คือ การผัดวันประกันพรุ่งนี้ แล้วหันไปทำงานหรือทำอย่างอื่นก่อนที่จะมาทำงานหลักของตัวเอง แต่การทำงานมันควรจะเป็นสิ่งที่เราอยากทำเพราะความกระหายอยากรู้อยากทำ มีความสงสัยใฝ่รู้ ไม่ใช่เลี่ยงที่จะไม่ทำมันเลย

จากมุมมองส่วนตัว

จากประสบการณ์ คิดว่าบางทีมันอาจจะเหนื่อยด้วย เปรียบเปรยว่าการทำงานเหมือนวิ่งตลอดเวลา บางทีก็อาจจะต้องหยุดพักบ้าง จริงๆ งานที่เราเลือกมันต้องสนุกแน่นอนแหละเราถึง(บางส่วนละกัน) และรวมถึงบริบทรอบตัวด้วย เช่นว่า การทำงานแบบเดียวกัน แต่ต่างสภาพแวดล้อมหรือเพื่อนร่วมงาน ก็มีส่วนทำให้เราเกิดการหลีกเลี่ยงที่จะทำงานก็ได้นะ คิดว่าคงไม่ถึงกับเปลี่ยนสายงาน แต่เป็น “เปลี่ยนที่ทำงาน” อันนี้เป็นไปได้สูงมาก

You regularly approach work with exhaustion, burnout, or dread.

การทำงานที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า, หมดไฟ, หรือเต็มไปด้วยความกลัว

ข้อนี้ดูจะแปลความหายตรงตัวมาก ขอเข้าประเด็นมุมมองส่วนตัวเลย

จากมุมมองส่วนตัว

อยากลองแยกเป็นสองกลุ่มหลักน่าจะดีกว่า

กลุ่มแรกคือ คนที่ทำงานมาหลายปีแล้ว คิดว่าคงต้องทบทวนแบบภาพยาว ว่าช่วงที่ผ่านมาปัญหาแบบเดิมไหม เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ เกิดขึ้นกับทุกที่ที่เราเปลี่ยนที่ทำงานใช่ไหม แม้ว่าทุกบริษัทก็มีความแตกต่างแล้วนะ ทั้งขนาดบริษัท ลักษณะของอุตสาหกรรม เพื่อนร่วมงาน หรือปัจจัยอื่นๆ ถ้าใช่ก็คงเป็นสัญญาณการเปลี่ยนสายงาน

กลุ่มสองคือ คนที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือเริ่มสายงาน อันนี้จะต่างจากช่วงแรกมาก เพราะคิดว่าอาจจะยังเจอรูปแบบซ้ำๆ ไม่เจอว่าปัญหาที่เจอใช่ปัญหาระยะยาวหรือไม่ แนะนำว่าให้ลองพูดคุยหรือนัดแนะกับคนที่มีประสบการณ์ ตั้งคำถามให้ถูกประเด็นจะสำคัญมากด้วย เช่นว่า ปัญหาที่เราเจอปัจจุบัน เค้าเคยเจอหรือไม่ ผ่านมันไปหรือรับมือยังไง และมีวิธีอื่นอีกไหมจากประสบการณ์ทั้งจากตัวเค้าเอง และคนอื่นที่เค้าเคยพบหรือฟังมา

หัวข้อนี้สำหรับผมเป็นประเด็นใหญ่อยู่ และทุกวันนี้คำว่า “burnout” เป็นคำที่ใกล้ตัวมากๆ ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา

It’s causing you to develop bad habits.

สร้างนิสัยไม่ดีให้กับตัวเอง

การทำงานในองค์กรที่มี toxic culture (ถ้าแปลว่าวัฒนธรรมองค์กรที่มีพิษก็คงแปลกๆ) แล้วพบว่า เราอาจจะมีนิสัยเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี ก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องพิจารณาในการเปลี่ยน “ที่ทำงาน” หรือ “ย้ายสายงาน”

จากมุมมองส่วนตัว

ก็ยังคิดว่าคงต้อง reflect หรือทบทวนตัวเองให้ดี บางทีมันอาจจะไม่ถึงกับเปลี่ยนนิสัยก็ได้นะ ถ้าเราแยกแยะออกว่า เรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหน แล้วถ้ารู้ว่ามันไม่ดีกับนิสัยเราในระยะยาว ก็ต้องพึงระลึกว่า นี่มันไม่ใช่ value หรือคุณค่าในการทำงานที่เราถือนะ และในมุมมองผมนะ คิดว่า ถ้าเราแบ่งปันมุมมองนี้ได้ว่า มันไม่ดียังไง และบอกเล่ากับคนในองค์กรได้ ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เราปลอดภัย หรือ safe space ที่จะทำให้ที่ทำงานน่าอยู่มากขึ้น (แต่นั่นแหละ บริษัทเปิดกว้างมากพอไหม หรือเป็นแนวทางบริษัทที่เค้ายึดถือกันอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าใช่ก็…เราอาจจะ burnout ได้เนอะ)

Your workplace has become unhealthy.

ที่ทำงานไม่ healthy

แปลยากจัง ฮ่าๆ คิดว่าน่าจะประมาณว่า ที่ที่ทำงานอยู่ตอนนี้ภาพรวมมันไม่ดีต่อใจแล้ว เนื้อหายกตัวอย่างเช่นว่า ที่ทำงานหรือเพื่อนร่วมงานเอาแต่ว่าคุณ หรือดูถูกการทำงาน ซึ่งการทำงานที่ดีมันควรจะส่งเสริมทางใจกันเนอะ กลายเป็นว่าถ้าทำที่งานของเรา หรือเพื่อนร่วมงานเราส่งผลต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้อง Move on

จากมุมมองส่วนตัว

อันนี้เห็นด้วยแบบ อาจจะแทบ 100% เลย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือเหตุการณ์ส่วนตัวด้วย และจากที่คุยกับคนส่วนใหญ่ คนย้ายงานกันสาเหตุหลักที่อาจจะไม่ได้บอกกันเป็นทางการ ก็คือเพื่อนร่วมงาน หรือรวมไปถึงหัวหน้างานเรา แต่ที่คิดได้อีกอย่าง คือถ้าตัวเองย้อนกลับไปวันนั้นได้ อาจจะอยากถามไปเหมือนกันว่าเบื้องหลังของการพูด การคิด การตัดสินใจในวันนั้นมันเกิดอะไรขึ้นนะพวกเค้าเหล่านั้นถึงทำไม่ดีกับเรา หรือต่อในองค์กร (และแน่นอนว่าดีไม่ดีของเรา อาจจะไม่เท่ากับคนอื่นก็ได้ ไม้บรรทัดมันไม่เท่ากัน ทั้งหน้าที่การงาน บทบาทการตัดสินใจ หรือบริบทที่เกิดขึ้น ที่อยากถามเพราะอยากรู้อะไรแบบนี้นี่แหละ อนาคตเราอาจจะเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกก็เป็นไปได้)

มุมมองส่วนตัวกับภาพรวมเรื่องนี้

จากส่วนตัวที่เป็นคนเปลี่ยนงานมาแล้ว(หลายที่) และย้ายสายงานด้วย(หลายครั้ง) ตามหัวข้อที่ HBR ว่ามาก็ถือว่าตรงและจริงจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่อย่างข้อที่ว่า “You’ve achieved what you set out to achieve.” อันนี้หลายคนอาจจะไม่ได้อินมากถ้าเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานจนถึงอายุสัก 30 (อันนี้คาดเดานะครับ) เพราะจากที่มีรุ่นน้องอายุราวๆ นี้และได้พูดคุยด้วย ถ้าจะเปรียบเปรยว่า “อิ่มตัว” สำหรับผมแล้วมันยากนะจะใช้คำว่าอิ่มตัวเพราะมันต้องใช้เวลาที่นานมากประมาณนึง แต่ เราก็เปรียบเทียบตัวเองเป็นไม้บรรทัดคนอื่นไม่ได้เลย อันนี้ก็ถือว่า อ่านเป็น Reflection สะท้อนตัวเองในอดีตจนถึงปัจจับนเพื่อการวางแผนในอนาคตแล้วกันเนอะ

แล้วคุณละ คิดเห็นว่ายังไงบ้าง คุณว่าจริงไหม?

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ จะลองหาอ่านบทความแล้วมาบวกกับประสบการณ์ตัวเองดูอีกครั้งหน้าครับ 🙂

by Sutham
Share :